Australian Embassy
Thailand

Anzac 2013 - Speech at cemetary_Th

สุนทรพจน์
โดย
สตีเฟ่น สมิธ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
สุสานทหารสัมพันธมิตร กาญจนบุรี

25 เมษายน 2556

ท่านประธานวุฒิสภา ฯพณฯ จอห์น ฮ็อกก์ (วุฒิสมาชิก), เจมส์ ไวส์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย, โทนี ลินช์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ทหารผ่านศึกและครอบครัวผู้เดินทางมาจากออสเตรเลียเพื่อมาร่วมงานกับเราในวันนี้ และเพื่อนชาวไทยของเรา แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมขอแสดงความขอบคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่เหล่าอดีตเชลยศึก ครอบครัวและเพื่อน ๆ ของท่านซึ่งเดินทางมาร่วมในพิธีกับเราในเช้าวันนี้

ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลีย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในพิธีกับท่านที่สุสานทหารสัมพันธมิตรกาญจนบุรีเพื่อแสดงความเคารพต่อเหล่าทหารชายหญิงผู้สละชีพเพื่อรับใช้ประเทศชาติ

วันนี้เป็นช่วงเวลาที่พวกเราระลึกถึงพวกเขา

เราจะจดจำถึงความเสียสละของเหล่าทหารผู้กล้าที่ได้ยกพลขึ้นบก ณ ชายฝั่งของคาบสมุทรแกลลิโปลีเมื่อ 98 ปีที่แล้ว และเราขอยกย่องความเสียสละของทุกคนที่ทุกข์ทรมานและเสียชีวิตในสงครามทั้งในอดีตและปัจจุบัน

เรายกย่องชาวออสเตรเลียและชาวนิวซีแลนด์ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติมากว่าศตวรรษ

เราระลึกถึงความเสียสละของเหล่าทหารชายและหญิงชาวออสเตรเลียที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ และเหล่าทหารกล้าหาญชายและหญิงชาวออสเตรเลียกว่า 102,000 คนที่เสียชีวิตในสงคราม ความขัดแย้ง การเข้าร่วมปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์และภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

วันนี้ เราระลึกถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับใช้ชาติชายและหญิง ซึ่งกำลังปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน และการเข้าร่วมปฏิบัติการเพื่อสันติภาพและความมั่นคงทั่วโลก

เชลยศึกชาวออสเตรเลียกว่า 2,800 จากจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 10,000 คนที่ทำงานสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า เสียชีวิตเพราะไม่สามารถทนต่อความทุกข์ทรมานได้

และร่างของพวกเขาหลายคนถูกฝังอยู่ที่กาญจนบุรีแห่งนี้ ป้ายหินเหนือหลุมฝังศพที่เงียบสงบวางเรียงรายบอกเล่าเรื่องราวของความสูญเสียของผู้คนในยุคนั้น

ชีวิตในวัยเยาว์ต้องพรากจากจากการทำงานหนัก การถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย การถูกทอดทิ้ง การถูกเฆี่ยนตีและโรคภัยไข้เจ็บ ในระหว่างการสร้างรถไฟสายไทย-พม่า

เรื่องราวของพวกเขากล่าวถึงความกล้าหาญ ความเข้มแข็งในยามทุกข์ยาก สายสัมพันธ์ของมิตรภาพ ความเฉลียวฉลาดและความเมตตาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

เชลยศึก แสตน อาร์เนล เล่าให้ฟังว่า เหล่าเชลยศึกไม่เคยทอดทิ้งกัน ผลัดกันนั่งเฝ้าดูแลในสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่ซึ่ง ที่พวกเขาเรียกกันว่าสถานที่ ‘เฝ้ามองการตาย’ ซึ่งชาวออสเตรเลียกล่าวเพื่อให้เกียรติกันว่า ‘ไม่มีใครถูกทิ้งให้ตายอย่างโดดเดี่ยว’

ในช่วงเวลานั้น พวกเขาไม่ได้อยู่เดียวดาย ในวันนี้พวกเขาก็ไม่อยู่โดดเดี่ยวเช่นกัน

การสวดภาวนาของทหารผ่านศึก คือความปรารถนามิให้ลูกหลานและประเทศชาติของเราต้องเผชิญกับความน่ากลัวและความโหดร้ายของสงครามอีก

ซึ่งเชลยศึกจากค่ายต่าง ๆ ที่เคยอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ให้คำยืนยันต่อเราได้ชัดเจนว่า สงครามมิได้นำมาซึ่งความรุ่งเรือง

หากปราศจากความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวไทยที่เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือ จำนวนผู้เสียชีวิตของเชลยศึกคงเพิ่มขึ้นกว่านี้มาก


ชาวออสเตรเลียจะไม่มีวันลืมความช่วยเหลือของผู้มีน้ำใจกล้าหาญที่อาศัยอยู่บริเวณทางรถไฟสายไทย-พม่า พวกเขาเสียสละลำเลียงผู้บาดเจ็บผ่านเส้นทางที่ลื่นลาดชันเพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล

เราจะไม่ลืมความกล้าหาญอันไร้ซึ่งความเห็นแก่ตัวของพวกเขา

เราระลึกถึงแรงงานชาวเอเชียหลายแสนคนที่ถูกส่งตัวมาจากมลายูหรือเรียกกันในขณะนั้นว่าดัชท์อีสต์ อินดี้ รวมทั้งชาวไทยและพม่า ที่ถูกเกณฑ์ให้มาทำงานสร้างทางรถไฟ

แรงงานชาวเอเชียราว 75,000 คนเสียชีวิต แม้ว่าจะไม่มีหลุมฝังศพของพวกเขา แต่ความสูญเสียนี้แสดงถึงความโหดร้ายและความอยุติธรรมของสงคราม

ชาวออสเตรเลียอุทิศว่า การที่พวกเขาร่วมระลึกถึงในวันนี้ ช่วยหล่อหลอมเอกลักษณ์แห่งชาติ ช่วยสร้างคุณลักษณะพื้นฐานของคนในชาติ และช่วยสร้างแนวคิดและคุณค่าของชาติ

เราเป็นชาติที่ถือในความเสมอภาคและความเป็นอิสระ

เราเชื่อมั่นในโอกาสและความเท่าเทียมกันของทุกคน และจะไม่ทอดทิ้งผู้อ่อนแอหรือผู้ถูกกดขี่ไว้เบื้องหลัง

เราเชื่อมั่นในความสำเร็จที่สามารถเกิดขึ้นได้จากสติปัญญาและความเพียรในการทำงานและความกล้าหาญที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จแม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบาก

ธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นที่แกลลิโปลีและในภายหลังที่เกิดกับเชลยศึกที่ทนทุกข์และสละชีพในการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ฝังแน่นในประวัติศาสตร์ของเรา

ในวันนี้ ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรา ในขณะที่เราร่วมกันแสดงความเคารพและคารวะต่อผู้เสียชีวิตในสนามรบ

ระลึกไม่ลืมเลือน