Australian Embassy
Thailand

Anzac 2013 - Speech at dawn service_Th

สุนทรพจน์

สตีเฟ่น สมิธ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พิธีช่วงใกล้รุ่ง ณ ช่องเขาขาด
24 เมษายน 2556

ท่านประธานวุฒิสภา ฯพณฯ จอห์น ฮ็อกก์ (วุฒิสมาชิก), เจมส์ ไวส์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย, โทนี ลินช์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ทหารผ่านศึกและครอบครัวผู้เดินทางมาจากออสเตรเลียเพื่อมาร่วมงานกับเราในวันนี้ และเพื่อนชาวไทยของเรา แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลีย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนช่องเขาขาดในวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

และในการที่เรามารวมตัวกันยามรุ่งสางนี้ เราได้รับเกียรติจากเหล่าอดีตเชลยศึกและครอบครัวพร้อมด้วยผองเพื่อนซึ่งมาร่วมพิธีรำลึกกับเราในครั้งนี้

การมาเยือนที่แห่งนี้เป็นเครื่องเตือนถึงอันสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่งสำหรับเหล่าอดีตเชลยศึก ถึงความอดทนของพวกเขา ถึงเพื่อนผู้สูญเสียชีวิต ถึงสายใยระหว่างเพื่อนทหารที่เผชิญกับความทรมานเคียงข้างพวกเขาและเหล่าผู้ที่ช่วยให้พวกเขามีชีวิตรอด

เรามารวมตัวกันในเวลานี้ ในวันนี้ เพื่อจดจำเหล่าทหารออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ยกพลขึ้นบก ณ ชายฝั่งของคาบสมุทรแกลลิโปลี ซึ่งถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ของวันที่ 25 เมษายน 2458

วันนี้เป็นวันที่เราระลึกถึงผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานในช่วงเวลาของสงครามหรือวิกฤตการณ์ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับใช้ชาติ หรือพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์หรือไทย

เรารำลึกถึงสมาชิกของกองกำลังทหารออสเตรเลียซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม ทั้งในสงครามโบเออร์ ไปจนถึงปฏิบัติการในอัฟกานิสถานที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

เรารำลึกถึงผู้คนที่ยังคงทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายหรือจิตใจจากความบอบช้ำอันเป็นผลของสงครามและเรารำลึกและตระหนักว่าเราเป็นหนี้พวกเขาและครอบครัวของพวกเขา

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรารำลึกถึงผู้ที่ได้เสียสละขั้นสูงสุด

จิตวิญญานของวันแอนแซค ซึ่งถือกำเนิดบนชายฝั่งหินขรุขระของแกลลิโปลีในปี 2458 ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของมรดกชาติเรา

ซี. อี. ดับเบิลยู. บีน พรรณาถึงจิตวิญญานของแอนแซคว่าเป็นความกล้าหาญโดยไม่ลังเล สายสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนสนิท การใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา ความซื่อสัตย์และความอดทนซึ่งจะไม่มีวันนำมาซึ่งความพ่ายแพ้

คุณสมบัติเหล่านี้เป็นลักษณะพื้นฐานของชาติเราที่แทรกซึมไปในทุก ๆ ด้านของวิถีชีวิตของเรา เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่เด่นชัดทั่วประเทศและทวีปของเรา เหล่านี้คือคุณค่าและความดีซึ่งปรากฎในพี่น้องชาวนิวซีแลนด์ของเราทั้งชายและหญิง

เหล่านี้คือคุณสมบัติที่เหล่าทหารแอนแซคผู้ถุกคุมขังโดยกองทัพญี่ปุ่นผู้ทรมานจากความยากลำบากแสนสาหัสในช่องเขาขาดแห่งนี้และบนทางรถไฟสายนี้ยึดถือเพื่อการมีชีวิตรอด การสร้างรถไฟในบริเวณช่องเขาขาดเริ่มต้นในปี 2486

ชื่อของสถานที่แห่งนี้ (ช่องไฟนรก) มีที่มาจากฉากอดีตในยามค่ำคืนที่เหล่าเชลยศึกตรากตรำสร้างทางรถไฟ โดยมีแสงของคาร์ไบด์และไฟจากคบไม้ไผ่ให้ความสว่าง

ด้วยความเจ็บปวดและความเสียสละของพวกเขา งานสร้างช่องทางนี้ก็สำเร็จลงในเดือนสิงหาคม

โดยในช่วงเพียงไม่กี่เดือนนั้น มีทหารสัมพันธมิตรประมาณ 700 คนเสียชีวิตลงที่ช่วงสั้น ๆ บริเวณทางรถไฟ

ไม่มีแล้วซึ่งเสียงตะโกน “เร็วเข้า เร็วเข้า” อย่างที่ผู้คุมเร่งบังคับให้สร้างทางรถไฟ

ไม่มีแล้วซึ่งเสียงร้องไห้จากความเจ็บปวดและเสียงเหล็กกระทบหินแข็ง

ไม่มีแล้วซึ่งฉากที่บอมบาร์เดียร์ ฮิวซ์ คลาร์ค พรรณาว่าราวกับฉากประพันธ์ของดันเต้เรื่อง “ไฟนรก”

ไม่มีแล้วซึ่งกลิ่นหยาดเหงื่อ เลือด และควันฉุน

สภาพที่เชลยศึกตรากตรำทำงานบนทางรถไฟนั้นโหดร้ายและไร้ซึ่งมนุษยธรรม

ได้รับอาหารเพียงเล็กน้อยและถูกบังคับให้ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนในสภาวะอันเลวร้ายและสุดที่จะทนได้

ต่อสู้กับโรคและอยู่ภายใต้ความโหดร้ายทารุณของผู้จับกุมตัวพวกเขา

ตามบันทึกของญี่ปุ่น มีการสร้างเขื่อนขนาด 4 ล้านคิวบิกเมตร หิน 3 ล้านคิวบิกเมตรถูกเคลื่อนย้ายด้วยมือ และทางเชื่อมยาว 14 กม. ได้ถูกสร้างขึ้น

20 เปอร์เซนต์ของเชลยศึกที่ทำงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่าเสียชีวิต ชีวิตของคนหนุ่ม จำนวน 12,500 คนต้องสูญสิ้นก่อนวัยอันควร ทหารชาวออสเตรเลีย 2,800 นายไม่ได้กลับบ้าน

กรรมกรชาวเอเชียประมาณ 270,000 คนถูกบังคับให้ทำงานหนัก ซึ่งจำนวน 75,000 คนเสียชีวิตลงจากการสร้างทางรถไฟสายนี้

ดังคำกล่าวที่เราเคยได้ยินมาแล้วว่า หนึ่งไม้หมอนคือหนึ่งชีวิต

เชลยศึกผู้รอดชีวิตต้องทนทุกข์ทรมานจากความทุพพลภาพของสุขภาพ หลายคนเสียชีวิตหลังสงครามในอัตราที่สูงกว่าทหารผ่านศึกผู้ประจำการณ์ในสถานที่อื่น ๆ

ความอดทนของเชลยศึกชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์และการที่พวกเขาต่างดูแลซึ่งกันและกันยังคงเป็นแรงบันดาลใจที่สร้างพลังอย่างยิ่งให้กับชาติเราทั้งสอง

เซอร์เอ็ดเวิร์ด ‘เวียรี่’ ดันล็อป หนึ่งในเชลยศึกผู้ยืนหยัดต่อสู้กับความโหดร้ายเพื่อช่วยเหลือเหล่าเชลยศึกที่ป่วยและอ่อนแอแม้ตนจะถูกทรมาน

เฉกเช่นเดียวกับอีกหลายคนที่แสดงความเป็นผู้นำและความกล้าหาญอันน่ายกย่อง เขายังคงรับใช้ประเทศชาติและเพื่อนแม้ในยามหลังสงคราม เขาต่อสู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ความช่วยเหลือเชลยศึกภายหลังสงคราม

เขาเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไทย เช่นเดียวกับเพื่อนคนไทยของเขาที่ชื่อบุญผ่อง ในฐานะเพื่อนผู้เสี่ยงชีวิตเพื่อนำอาหารและยามาให้กับเหล่าเชลยศึก มิตรภาพของเขากับบุญผ่องยังช่วยสายสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและประเทศไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

การที่เวียรี่ ดันล็อป สามารถให้อภัยเหล่าผู้คุมที่ขังเขาได้ในภายหลังและยังส่งเสริมการปรองดองกับประเทศญี่ปุ่นนับเป็นการกระทำอันกล้าหาญและยิ่งใหญ่

อีกไม่นานดวงอาทิตย์ก็จะขึ้นผ่านแมกไม้ด้านบน เตือนใจเราถึงความหวังที่ทอดตัวอยู่ในยามรุ่งอรุณ และถึงความจำเป็นที่เราต้องจดจำ

ในวันนี้เราจะใช้เวลาเพื่อยกย่องชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ผู้รับใช้ชาติทุก ๆ คน

เราจดจำความเสียสละของเหล่าชายหญิงในกองกำลังทหารของเราผู้ซึ่งปฏิบัติงานเพื่อรักษาสันติภาพและในปฏิบัติการทั่วโลก การรับใช้ชาติของพวกเขาได้สร้างมาตราฐานให้กับเจ้าหน้าที่รุ่นหลัง

เราจดจำเหล่าทหารหนุ่มสาวชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ผู้สละชีพในอัฟกานิสถาน พวกเขาสง่างามทรงเกียรติคงอยู่ในความทรงจำของเราและเรารู้สึกถึงความสูญเสียที่สะเทือนใจ และเราระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา

ในวันนี้ ดังเช่นทุกปีที่ชาวออสเตรเลียทั่วโลกรวมตัวกันเพื่อรรำลึกถึงวันแอนแซค และระลึกถึงชีวิตที่สูญสิ้น

เรายังถือโอกาสนี้ร่วมแสดงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของชาติ คุณค่า และแนวความคิดที่เราชาวออสเตรเลียมีต่อประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสมอภาค การดูแลไม่ทอดทิ้งเพื่อน การมีอารมณ์ขันแม้ในยามตกทุกข์ได้ยาก และความเข้าใจและมั่นใจว่าถึงแม้เราจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเพียงใดก็จะต้องมีใครสักคนที่มีความยากลำบากกว่าเราเสมอและเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา

ดังถ้อยคำของ เวียรี่ ดันล็อป ที่ว่า “เราทุกคนต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทุกข์ยากลำบาก”

ระลึกไม่ลืมเลือน