๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙
บันทึกถ้อยคำที่นายมัลคอล์ม เทิร์นบูล นายกรัฐมนตรี เครือรัฐออสเตรเลียแถลงต่อรัฐสภาในการแสดงความเสียใจในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เรียนท่านประธานรัฐสภา
กระผมขอแถลงต่อรัฐสภาเพื่อให้มีการจัดทำบันทึกการแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อพสกนิกรชาวไทย ในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงที่สุดของประชาชนชาวไทย เป็นวันที่ทุกคนไม่อยากนึกถึงและหวังว่าจะไม่มีวันเกิดขึ้น
ถึงเพื่อนชาวไทยของเราทุกคน กระผมตระหนักถึงความเศร้าโศกของท่าน กระผมรับทราบถึงการเข้าร่วมประชุมของ ฯพณ นายจิระชัย ปั้นกระษิณ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา ในวันนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้เข้าพิธีพระบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ทำให้กระผมนึกย้อนถึงการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศตลอดระยะเวลากว่า ๗ ทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวกระโดดของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงวางรากฐานในการนำประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาตราบจนทุกวันนี้ พระองค์ทรงได้นำพาประเทศผ่านวิกฤตทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองให้ทวยราษฏร์ได้ภาคภูมิใจในความเป็นชาติและเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย
พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจโดยเจริญรอยตามมหาราชนักพัฒนาในการนำแนวความคิดสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาประเทศ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตราษฎรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้า การอุทิศพระวรกายและ พระวิริยะอุตสาหะ ส่งผลให้องค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศรางวัลแรกของโลกชื่อว่า “รางวัลแห่งความสำเร็จ ชั่วชีวิตในเรื่องการพัฒนามนุษย์”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชไมตรีกับเครือรัฐออสเตรเลีย และเครือรัฐออสเตรเลียยกย่องสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งพระองค์ทรงให้การสนับสนุน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียเป็นเวลาทั้งสิ้น ๑๘ วัน หนังสือพิมพ์เดอะ แคนเบอร์ร่า ไทมส์ ได้รายงานว่า มีประชาชนมาเฝ้ารอรับเสด็จกว่า ๕,๐๐๐ คน และอีกกว่า ๗,๐๐๐ คนที่ยืนแถวรอ รับเสด็จตลอดเส้นทางจากท่าอากาศยานจนถึงทำเนียบรัฐบาล ประชาชนจำนวนมากนี้แสดงให้เห็นว่า มีนิสิตนักศึกษาชาวไทยทุนแผนโคลัมโบจำนวนไม่น้อยที่ไปศึกษาอยู่ ณ กรุงแคนเบอร์รา ในงานเลี้ยงต้อนรับเสด็จ วงดุริยางค์กองทัพทหารอากาศออสเตรเลียได้บรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนักดนตรีที่เชี่ยวชาญและทรงสนพระราชหฤทัยในดนตรีแจ๊ส ภายหลังเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยแล้วได้ทรงระบุไว้ในจดหมายถึงรัฐบาลออสเตรเลียว่า พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอบใจในการให้ความต้อนรับอันอบอุ่น ความปรารถนาดี และความเป็นมิตรของชาวออสเตรเลีย ซึ่งมิตรภาพนั้นได้ดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ การเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียในครั้งนั้น ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการจัดตั้งสมาคมออสเตรเลีย - ไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองซิดนีย์และเมืองเมลเบิร์น ส่งผลให้เกิดการแผ่ขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งทางด้านการค้า ประวัติศาสตร์ การศึกษาและประชากร
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสวยงามและเป็นจุดหมายในการเดินทางของบรรดานักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย ในอีกมุมหนึ่ง กระผมอยากจะเชิญทุกท่านรำลึกถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงในประเทศไทยที่คร่าชีวิตชาวออสเตรเลียไป ๒๓ ราย ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้เผชิญกับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และที่สำคัญหนึ่งในนั้นคือพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งสองประเทศได้ตกอยู่ในสถานการณ์เศร้าสลดต่อการสูญเสีย สมาชิกในครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รัก
อีกตัวอย่างของสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศคือ อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด ที่มีทหารเชลยศึกสงครามชาวออสเตรเลียกว่า ๒,๗๐๐ นาย เสียชีวิตระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า หนึ่งในวีรบุรุษที่มีชีวิตรอดจากการเป็นเชลยสงครามคือ เซอร์เอ็ดเวิร์ด เวียรี่ ดันลอป ผู้ที่มักจะกลับมาเยี่ยมประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหลังจากที่ท่านเสียชีวิตในพ.ศ. ๒๕๓๖ ได้มีการนำเถ้ากระดูกบางส่วนของท่านมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ณ บริเวณแม่น้ำแคว ที่สำคัญ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าที่ท่านจะเสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงกล่าวชื่นชม ยกย่อง และทรงประทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ประถมาภรณ์ช้างเผือก และชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย เพื่อเป็นเกียรติแก่เซอร์เอ็ดเวิร์ด เวียรี่ ดันลอป
ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยอันหาที่สุดมิได้ในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กระผมและประชาชนชาวออสเตรเลียขอพระราชทานกราบบังคมทูลแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และขอแสดงความเสียใจกับพสกนิกรชาวไทยพร้อมทั้งรัฐบาลไทยต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศเวลานี้