Australian Embassy
Thailand

Press Release 2015 - APT_Th

ผลงานศิลปินไทยร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 8 ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย

11 พฤศจิกายน 2558

ผลงานของศิลปินชั้นนำจากประเทศไทยจะถูกแสดงในงานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 8 (The 8th Asia Pacific Triennial of Contemporary Art - APT8) ซึ่งจัดขึ้นทุกสามปี ณ หอศิลป์แห่งรัฐควีนส์แลนด์ และหอศิลปะสมัยใหม่ (Queensland Art Gallery and Gallery of Modern Art - QAGOMA) เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 - 10 เมษายน 2559

“นิทรรศการศิลปะ Asia Pacific Triennial of Contemporary Art มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจถึงวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในออสเตรเลีย และผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลงานของศิลปินชาวไทยจะร่วมแสดงในงานครั้งนี้” ฯพณฯ พอล โรบิลลิอาร์ด เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยกล่าว

ภูมิทัศน์ที่คมชัดเสมือนจริงโดยปพนศักดิ์ ละออ และภาพเขียนเชิงรูปลักษณ์ขนาดใหญ่โดย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล จะเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของ 83 ศิลปินจาก 36 ประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิกที่จะจัดแสดงในงานครั้งนี้

นิทรรศการศิลปะ Asia-Pacific Triennial of Contemporary Art ริเริ่มโดยหอศิลป์แห่งรัฐควีนส์แลนด์ในปี ค.ศ. 1993 และเป็นนิทรรศการศิลปะต่อเนื่องเพียงงานเดียวในโลกที่เน้นการนำเสนอศิลปะร่วมสมัยจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

“ศิลปินทั้งสองท่านจากประเทศไทยที่ร่วมแสดงผลงานในงานครั้งนี้ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการเมืองในปัจจุบันและนำเสนอประเด็นทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลก การนำเสนอผลงานของพวกเขานั้นเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับนิทรรศการครั้งนี้ เพราะแนวคิดหลักของนิทรรศการคือ การสำรวจว่ารูปทรงของมนุษย์จะสามารถแสดงออกซึ่งแนวคิดด้านวัฒนธรรม สังคมและการเมืองได้อย่างไร” คริส เซนส์ ผู้อำนวยการหอศิลป์แห่งรัฐควีนส์แลนด์ และหอศิลปะสมัยใหม่กล่าว

นิทรรศการศิลปะ Asia-Pacific Triennial of Contemporary Art จะจัดขึ้นที่ หอศิลป์แห่งรัฐควีนส์แลนด์ และหอศิลปะสมัยใหม่ ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 - 10 เมษายน 2559 อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.gagoma.qld.gov.au

ตัวอย่างภาพผลงานที่ร่วมแสดงในครั้งนี้

 

นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล
เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1971
ผลงานชื่อ Tales of Navin 1 ปี 2013-15
ภาพสีพอลิเมอร์สังเคราะห์บนผ้าใบ
ขนาด 160 x 250 ซม.
อนุเคราะห์ภาพจากศิลปิน

 

นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล
เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1971
ผลงานชื่อ Tales of Navin 3 ปี 2013-15
ภาพสีพอลิเมอร์สังเคราะห์บนผ้าใบ
ขนาด 160 x 250 ซม.
อนุเคราะห์ภาพจากศิลปิน

 

ปพนศักดิ์ ละออ
เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1981
ผลงานชื่อ “Don’t leave me alone with people here” จากผลงานชุด ‘Silent No More’ ปี 2014-15
ภาพสีและผงพอลิเมอร์สังเคราะห์บนผ้าใบ
ขนาด 112 x 124 ซม.
อนุเคราะห์ภาพจากศิลปิน

 

ปพนศักดิ์ ละออ
เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1981
ผลงานชื่อ “Less criminals more crime” จากผลงานชุด ‘Silent No More’ ปี 2014-15
ภาพสีและผงพอลิเมอร์สังเคราะห์บนผ้าใบ
ขนาด 112 x 124 ซม.
อนุเคราะห์ภาพจากศิลปิน

 

เกี่ยวกับศิลปิน

นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล
เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1971 จังหวัดเชียงใหม่ และใช้ชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานในเชียงใหม่ ประเทศไทย และฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น

นาวินนำเสนอผลงานที่หอศิลป์แห่งรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในปีค.ศ. 1996 ในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 2 โดยผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาคือภาพวาดรูปลักษณ์มุมกว้างโดยพัฒนาจากโปสเตอร์ภาพยนตร์และจิตรกรรมฝาผนัง เขาสร้างผลงานด้วยสื่อที่หลากหลายเพื่อสร้างเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันของทั้งผู้คนและชุมชน นาวินฉลอง 20 ปีของบริษัทสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเขาซึ่งมีชื่อว่า นาวิน โปรดักชั่น ไปเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทของเขาเน้นเรื่องความเป็นไปได้ของศิลปะในการมีส่วนร่วมกับสังคม เขาได้สร้างผลงานใหม่ที่มองย้อนไปยังตัวละคร สถานที่ และชุมชนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพ นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 8 นี้ จะนำเสนอชุดผลงานเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ ‘Tales of Navin 1–4’ 2015 ที่นำเสนอภาพลักษณ์มากมายของตัวศิลปินเองในการดำเนินอาชีพของเขา และในขณะเดียวกันก็พิจารณาถึงเรื่องชีวิตและความตาย ผลงานชุดนี้นำเสนอพร้อมกับผลงาน จดหมายจากนาวินถึงนาวิน (2 มกราคม ค.ศ. 2015) ซึ่งเขาได้เขียนถึงตัวเอง เล่าถึงความสัมพันธ์ ความรักและความตาย รวมถึงการสูญเสียครูผู้เป็นศิลปินไทยนักบุกเบิก มณเฑียร บุญมา และการเดินทางของตัวเขาเองสู่ออสเตรเลียเพื่อช่วยงานศิลปินไทยท่านนี้เมื่อช่วงทศวรรษ 1990

ปพนศักดิ์ ละออ
เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1981 จังหวัดนนทบุรี
ใช้ชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานในเชียงใหม่

ผลงานลายเส้น ภาพวาดเหมือนจริง และศิลปะเชิงแนวคิดของปพนศักดิ์ ละออ นำเสนอการวิจารณ์ประวัติศาสตร์และการเมืองของไทยอย่างมีไหวพริบ ผลงานเมื่อไม่นานมานี้ของเขาที่มีชื่อว่า ‘Silent No More’ 2014–15 นำเสนอภูมิทัศน์ที่ว่างเปล่าบริเวณฟูกูชิมาและฟูตาบะในญี่ปุ่น และพื้นที่ที่ถูกทอดทิ้งภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์เมื่อปีค.ศ. 2011 ปพนศักดิ์พิจารณาพื้นที่อย่างครุ่นคิดผ่านทางกูเกิลแมพ และค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างความหลงใหลของเขาในภูมิทัศน์อันเงียบสงัดและไร้ผู้อยู่อาศัย และความขัดข้องใจกับสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันในประเทศไทย ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยกำลังประสบกับความไม่มั่นคงทางการเมืองซึ่งนำมาสู่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2014 การพบความคล้ายคลึงในภูมิทัศน์ที่งดงาม เขียวขจี ของญี่ปุ่น และในเชียงใหม่ ปพนศักดิ์ได้ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสถานที่ที่ดูสงบ กับสถานการณ์ระส่ำระสายที่มันแสดงถึง และเขาได้รบกวนความสงบด้วยการจัดวางตัวหนังสือจากฝุ่นลงบนภาพ