Australian Embassy
Thailand

Press Release 2015 - Brian Schmidt_Th

ไบรอัน ชมิดท์ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลชาวออสเตรเลีย
สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในไทย

21 มกราคม 2558

 

เมื่อวันอังคารที่ 20 มกราคม ศาสตราจารย์ไบรอัน ชมิดท์ นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้เดินทางมาเป็นวิทยากรในการบรรยายพิเศษเรื่องบทบาทของวิทยาศาสตร์ต่อมนุษยชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพฯ โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมกว่า 800 คน

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยมูลนิธิสันติภาพนานาชาติ (International Peace Foundation) โดยการบรรยายของศาสตราจารย์ชมิดท์เป็นส่วนหนึ่งชองโครงการการสนทนาเพื่อนำสู่วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ (Bridges- Dialogues Towards A Culture of Peace) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในการบรรยาย ศาสตราจารย์ชมิดท์เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับโลกเพื่อร่วมกันปะติดปะต่อพื้นที่ของมนุษยชาติในจักรวาล

“วิทยาศาสตร์และมนุษยชาติก้าวหน้าไปไม่ใช่ด้วยปัจเจกบุคคล แต่เพราะเราเดินไปข้างหน้าร่วมกัน” ศาสตราจารย์ชมิดท์กล่าว และ “เมื่อเราค้นพบทางวิทยาศาสตร์ เราไม่เก็บการค้นพบนั้นไว้กับตัวเราเอง” เขากล่าวเสริม
อูเว โมราเวทซ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสันติภาพนานาชาติ กล่าวถึงข้อคิดนี้เช่นกันว่า “ปัญหาของโลกเรานั้นไม่สามารถจะแก้ไขได้โดยกลุ่มนักการเมือง หรือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือโดยเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน นั่นจึงเป็นที่มาของการทำโครงการนี้

ในปี 2537 ศาสตราจารย์ชมิดท์ร่วมมือกับนักดาราศาสตร์ 20 คนจาก 5 ทวีป ในการค้นพบการขยายตัวของเอกภพด้วยอัตราเร่ง ซึ่งส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2554 และศาสตราจารย์ชมิดท์ยังคงทำวิจัยต่อไปในเรื่องการระเบิดของดาว และใช้หอดูดาวเมาท์สตรอมโลของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเพื่อสร้างกล้องโทรทัศน์สกายแมพเพอร์ เขากล่าวว่าหอดูดาวของออสเตรเลียแห่งนี้จำเป็นต่อการทำวิจัยของเขาอย่างมาก

“ที่นั่นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำวิจัยชิ้นสำคัญ ทั้งสภาพแวดล้อมและผู้คนที่ยอดเยี่ยม” เขากล่าว

ลอร่า สจ๊วร์ต หัวหน้าฝ่ายวิชาวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพฯ กล่าวว่า “ประเด็นสำคัญที่นักเรียนได้เรียนรู้จากการบรรยายครั้งนี้คือเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว นักเรียนได้เข้าใจว่าพวกเขาเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ และสิ่งที่พวกเขาทำ ก็ส่งผลต่อคนอื่นๆ” อาจารย์สจ๊วร์ตกล่าวเสริมว่าการบรรยายยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนคิดถึงเป้าหมายอาชีพในอนาคตแทนที่จะสนใจเพียงเรื่องคะแนนและการสอบ

สเตฟาน แสตนลี่ย์ นักเรียนวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “ศาสตราจารย์ชมิดท์สร้างแรงบันดาลเป็นอย่างมากเพราะเมื่อโตขึ้น ผมอยากจะทำวิจัยในด้านประสาทชีววิทยา”

สำหรับนักเรียนหลายคนที่ยังไม่แน่ใจเรื่องอาชีพในอนาคต ศาสตราจารย์ชมิดท์ได้สนับสนุนให้พวกเขาเดินตามความฝัน “พวกเธอยังเด็กเกินกว่าที่จะยอมผ่อนปรนต่อสิ่งที่พวกเธอต้องการจะทำในชีวิต” เขากล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา ฯพณฯ พอล โรบิลลิอาร์ด เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับศาสตราจารย์ชมิดท์ โดยนับเป็นโอกาสในการพูดคุยถึงการทูตเชิงวิทยาศาสตร์และความร่วมมือกับแขกผู้มีเกียรติชาวไทย

ประเทศออสเตรเลียได้สร้างผู้คว้ารางวัลโนเบลมาแล้วถึง 14 ท่าน โดยนอกจากศาสตราจารย์ชมิดท์แล้ว ชาวออสเตรเลียผู้ได้รับรางวัลโนเบลท่านอื่นๆ อาทิ เอลิซาเบธ แบลกเบิร์น สาขาวิชาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2552 แบร์รี เจ มาร์แชล และเจ โรบิน วอร์เรน สาขาวิชาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ในปี 2548