“ผู้หญิงและเพศภาวะข้ามแดนในอาเซียน”
สัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 2558
12 มีนาคม 2558
ในโอกาสครบรอบวันสตรีสากลในปี พ.ศ. 2558 สถานทูตออสเตรเลียสนับสนุนภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดสัมมนาวิชาการเพื่อเปิดเวทีในการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการเกี่ยวกับการเสริมพลังสตรีในด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงภารกิจที่สำคัญลำดับอื่นๆ ภายใต้หัวข้อ “ผู้หญิงและเพศภาวะข้ามแดนในอาเซียน” ในวันพุธที่ 18 มีนาคม 2558 มิสมีอา เออร์บาโน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคม แห่งรัฐบาลออสเตรเลียจะเข้าร่วมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของผู้หญิงภายใต้โครงการความช่วยเหลือออสเตรเลีย
ในปีนี้ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับวันสตรีสากลคือการครบรอบวาระ 20 ปีของการรับรองปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง ซึ่งผู้แทนจาก 189 ประเทศได้ร่วมลงนามรับรองในปีพ.ศ. 2538
การสัมมนาในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสของการทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านสตรีและความเสมอภาคของหญิงชายในระดับภูมิภาคของแต่ละประเทศที่ร่วมรับรอง ณ กรุงปักกิ่ง และเพื่อทบทวนความเคลื่อนไหวของผู้หญิงในอาเซียน ตลอดจนสร้างความตระหนักถึงพันธกิจอีกมากที่ต้องเร่งผลักดันเพื่อให้บรรลุผลตามวาระการประชุมปักกิ่ง+20
นางจูลี่ บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียมีบทบาทในการเป็นผู้สนับสนุนที่เด่นชัดในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ และทุ่มเทให้ความสนับสนุนและร่วมเป็นพันธมิตรกับนานาชาติในการเสริมพลังให้สตรี ในเดือนมีนาคม พศ. 2557 นางบิชอปได้ออกมาตรการและกลไกในการดำเนินงานโครงการความช่วยเหลือออสเตรเลียฉบับใหม่ชื่อ “การดำเนินการที่มีประสิทธิผล“ (Making Performance Count) กำหนดให้ทุกการลงทุนในโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศจะต้องบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 80 เปอร์เซนต์ในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศในการสัมมนาประกอบด้วย ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ พงศธร จันทร์เลื่อน ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส สุไลพร ชลวิไล นักวิชาการอิสระในประเด็นเรื่องผู้หญิง เพศภาวะ ความหลากหลายทางเพศ และผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี/เอดส์ วรรณพร ปันทะเลิศ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. สิตา สัมฤทธิ ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมสิทธิสตรีและเด็ก สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง และกุลสุวารักษ์ ปู่ยี่ (เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย)
“ออสเตรเลียมีความมุ่งมั่นในการให้ความสนับสนุนและร่วมมือกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและเสริมพลังสตรี การสนทนาอย่างต่อเนื่องในประเด็นเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของการประชุมปักกิ่ง+20” เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย มร. พอล โรบิลลิอาร์ด กล่าว
ผู้สนใจลงทะเบียน และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-943572 ต่อ 15 แฟกซ์ 053-219245 หรืออีเมลล์ [email protected]