ออสเตรเลียเปิดงานเสวนาความร่วมมือลุ่มน้ำโขง
แนะแนวทางอากาศบริสุทธิ์
31 พฤษภาคม 2567
ออสเตรเลียจัดงานเสวนาระดับภูมิภาคด้านปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนระหว่างไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการลดฝุ่น PM2.5 และพัฒนาคุณภาพอากาศทั่วอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวว่า “หมอกควันข้ามพรมแดนยังคงเป็นภัยหลักด้านสุขภาพและเป็นภาระใหญ่หลวงต่อภาครัฐ ทั้งยังส่งผลกระทบรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้คนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ฉะนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาสังคม และการหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงจำเป็นต่อการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น“
ดร.พอล ไกรมส์ และ ดร.เคท วิลสัน ที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาลออสเตรเลีย เป็นผู้นำเปิดงานเสวนาระดับภูมิภาคด้าน ความร่วมมือมือเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสามวัน ตั้งแต่วันที่ 29-31 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่จังหวัดเชียงใหม่
“การสนับสนุนประเทศลุ่มน้ำโขงให้จัดการกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอย่างประเด็นฝุ่น PM2.5 เป็นวาระหลักของออสเตรเลียเพื่อสานสัมพันธ์กับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น”นางสาวจูเลีย ฟีนีย์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยกล่าว
“ออสเตรเลียยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพงานเสวนาระดับภูมิภาคในครั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงออสเตรเลีย (Mekong-Australia Partnership: MAP) เพื่อยกระดับความร่วมมือต่อประเด็นที่สำคัญ และสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบเชิงรุกและโดยทันทีต่อไป” ท่านอุปทูตฟีนีย์กล่าวเสริม
งานเสวนานี้ให้ความสำคัญต่อการติดตามความคืบหน้าจวบจนถึงปัจจุบันในด้านการลดมลพิษหมอกควันและการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและแนวทางต่อการตรวจสอบคุณภาพอากาศทั้งในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น การเยี่ยมชมศูนย์วิชาการเพื่อมลพิษทางอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงแนวทางและงานวิจัยใหม่ ๆ ว่าเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร งานเสวนานี้ได้ชี้ให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา และโอกาสในการลดหมอกควันและพัฒนาคุณภาพอากาศ
งานเสวนานี้สนับสนุนโดยโครงการความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง - ออสเตรเลีย (Mekong-Australia Program: MAP) ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการความท้าทายร่วมที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบเจอ โดยเน้นให้ความสำคัญด้านการพัฒนาความมั่นคงทางน้ำ การตั้งรับต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ
ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย ได้ประกาศเงินสนับสนุนเพิ่มเติมมูลค่า 222.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 5.3 พันล้านบาท) แก่โครงการความร่วมมือนี้